ทำไมจึงมาบวชเป็นพระ? โดย หลวงพี่แอนเดรียส พิล

หลวงพี่เป็นชาวนอร์เวย์อาศัยอยู่ที่เมืองทรอนด์เฮม ท่านเป็นนักศึกษาวัย 21 ปี และเป็นนักเล่นออร์แกนในโบสถ์ ขณะนี้ท่านกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ของโรงเรียนดนตรี (หลักสูตร 4 ปี) พระแอนเดรียสมาบวชในโครงการ Monk Life จากคำแนะนำของเพื่อนสนิท คือหลวงพี่คริสเตียน ที่มาบวชพร้อมกันในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการบวชครั้งที่สองของพระคริสเตียน

จุดเริ่มในการนั่งสมาธิ

หลวงพี่แอนเดรียสเรียนจบมัธยมปลายแล้ว และเรียนต่อในระบบ ‘การศึกษานอกโรงเรียน’ เพื่อศึกษาเฉพาะทาง ท่านเล่นสกีและกีฬาผาดโผนได้ดี คนที่จุดประกายท่านเรื่องสมาธิก็คือ คริสเตียนเพื่อนของท่าน หลวงพี่เล่าว่า “ผมเห็นหนังสือ Power of Now เขียนโดย Eckhart Tolle วางบนโต๊ะข้างหน้าเขา แว๊บแรกผมคิดว่า หรือพระคริสเตียนจะสนใจการนั่งสมาธิ และสนใจเรื่องเดียวกันกับผม แว๊บต่อมาผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรอก ต่อมาเมื่อเราได้คุยกัน ก็ปรากฏว่า เขาชอบการนั่งสมาธิและสนใจเรื่องเดียวกับผมจริงๆ ผมเริ่มนั่งสมาธิมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และอยากไปเรียนรู้การทำสมาธิที่สถานที่ปฏิบัติธรรม ตลอดช่วงโควิดเราคุยกันเรื่องนี้จนดึกดื่นทุกคืน”

ความตั้งใจของหลวงพี่ที่จะบวช

“ผมคิดเรื่องนี้มานานพอสมควร เรา 2 คนเหมือนมีสัญญากันแบบไม่เป็นทางการว่าจะไปบวชพร้อมกัน ผ่านไป 3 ปี จนมาถึงปีนี้ (พ.ศ. 2565) ผมติดสอบในเดือนพฤษภาคม เขาเลยไปบวชก่อน พอเดือนกันยายนเราจึงได้มาบวชพร้อมกัน” พระแอนเดรียสยังบอกว่า พวกท่านตั้งใจบวชมานานมากแล้ว ตั้งแต่ตอนเจอกันที่โรงเรียนก็คุยกันเรื่องนี้เรื่อยมา “เราต้องเริ่มลงมือทำสักที เพราะเราคุยกันมา 3 ปีแล้ว”

หลวงพี่นั่งสมาธิต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้

“จริงๆ ผมเป็นชาวคริสต์นะ เรานั่งสมาธิผ่านแอป Headspace กันบ่อยมากตั้งแต่ตอนเรียน จนแอปแสดงผลการใช้งานว่า นั่งสมาธิต่อเนื่องมามากกว่า 1,030 วัน นับตั้งแต่เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2562 เพิ่งจะหยุดใช้ตอนเดินทางมาบวชครั้งนี้เอง” พระแอนเดรียสศึกษาหลักปรัชญาตะวันออกและคำสอนในพระพุทธศาสนามาได้สักระยะหนึ่งก่อนเดินทางมาบวชในโครงการ Monk Life

ความคาดหวังในตัวเอง และเรื่องการปฏิบัติธรรม

“ช่วง 2 ถึง 3 เดือนก่อนเดินทางมาบวช ผมก็ปล่อยวาง ไม่คาดหวังในตัวเองไประดับหนึ่งแล้ว พอมาถึงโครงการผมยังมีความวุ่นวายใจอยู่บ้าง แต่ผมเรียนรู้ที่จะปล่อยวางได้มากขึ้น รู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย เพราะรู้ว่านี่คือกระบวนการเรียนรู้ธรรมชาติของใจตัวเองและการปล่อยวาง”

พระแอนเดรียสรู้สึกขอบพระคุณพระอาจารย์เทศน์สอน โดยเฉพาะพระพี่เลี้ยงของท่าน คือ หลวงพี่ริเวอร์ ที่สอนเทคนิคการทำสมาธิให้กับท่านโดยเฉพาะ “มีหลวงพี่รูปหนึ่งที่ช่วยผมไว้เยอะมาก คือหลวงพี่ริเวอร์ เรานั่งสมาธิด้วยกัน ท่านสอนให้ผมปล่อยวาง และช่วยประคับประคองให้ผมสามารถปล่อยวางได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แค่ได้พบเจอกับท่านก็ถือเป็นเรื่องโชคดีสุดๆ แล้ว ท่านคือพระพี่เลี้ยงที่ดีที่สุดสำหรับผม ท่านสอนให้ผมรู้ว่าต้องวางใจอย่างไรในเส้นทางสายกลาง”

พระแอนเดรียสเล่าถึงวิธีวางใจในระหว่างทำสมาธิว่า

“การทำสมาธิมีขึ้นมีลงในบางช่วง เราจึงอาจเจออุปสรรคอยู่บ้าง แต่เครื่องบินจะต้องบินต่อแม้เจอหลุมอากาศ ดังนั้นจึงจำเป็นมากที่เราต้องเรียนรู้เรื่องการปล่อยวาง เพื่อให้สามารถผ่านอุปสรรคไปได้”

ท่านยังเล่าถึงวิธีวางใจให้สงบต่อไว้ว่า

“อารมณ์คนเหมือนทุ่นลอยน้ำ เมื่อทุ่นลอยเหนือน้ำ มี 2 ทางให้เลือก คือจะกดทุ่นไว้หรือปล่อยไป ถ้ากดทุ่นไว้ใต้น้ำสักนาทีหนึ่งยังพอเป็นไปได้ กดไว้ 5 นาทีเริ่มลำบากขึ้น กดนาน 10 ชั่วโมงยิ่งยากเข้าไปใหญ่ อารมณ์มนุษย์ก็มีธรรมชาติลอยตัวเช่นกัน ถ้ากดไว้ก็เมื่อยแขนเปล่าๆ ถ้าปล่อยไปเราก็ไม่เมื่อยแขน”

คำว่า “สบาย” คือสิ่งที่หลวงพี่ได้เรียนรู้จากการนั่งสมาธิ

 “ให้ยึดคำว่า สบาย เป็นหลัก คำนี้สำคัญกว่าที่คิด คุณต้องไม่เอาเรื่องเอาราวกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจ การให้ความสนใจกับเรื่องพวกนั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ปล่อยมันไปเสีย เดี๋ยวมันก็หายไปเอง สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ เราไม่ใช่คนควบคุมการทำใจให้เป็นสมาธิ แน่นอนว่าเรามีแนวทาง มีเทคนิคในการวางใจ แต่ผลจากการทำสมาธิจะเกิดขึ้นเอง เราไปบังคับให้เกิดไม่ได้”

ความคาดหวังและการยอมรับผลการปฏิบัติของตัวเอง

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ เรื่องการปล่อยวางทางใจ ถ้าเรายังไม่พร้อมที่จะปล่อยวางก็ไม่เป็นไร ผมบอกตัวเองตั้งแต่ต้นโครงการว่า ถึงแม้จบโครงการแล้ว แต่ทุกอย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนไปผมก็ยอมรับได้ ผมไม่คาดหวังหรือกดดันตัวเองว่าต้องปล่อยวางได้ เรารู้ตัวเองดีว่าพร้อมระดับไหน แม้คนอื่นอาจก้าวหน้าไปมากแล้วก็ไม่เป็นไร ผมเรียนรู้ที่จะมีความพอใจในตัวเองตลอดเส้นทาง”

สิ่งที่อยากบอกกับผู้กำลังคิดเรื่องบวชแต่ยังลังเลอยู่ก็คือ

“ในทางวิทยาศาสตร์ มีหลักฐานเรื่องข้อดีของการทำสมาธิค่อนข้างชัดเจน องค์ทะไลลามะก็เคยกล่าวกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยว่าให้ช่วยหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มายืนยันกับชาวตะวันตกว่าสมาธิดีอย่างไร คุณควรหาข้อมูลให้มากพอ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต ถามเพื่อน หรืออาจารย์ ความรู้ดีๆ มีมากมายให้คุณเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้เรื่องการทำสมาธิแล้ว คุณจะอยากเดินทางไปบวชเอง ให้เริ่มจากจุดที่คุณสนใจก่อน”