อริยสัจ ๔ – ทางสู่ความหลุดพ้น – และ นิพพาน

“พระภิกษุในสมัยก่อนและปัจจุบันนี้ สอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ด้วย”
-พระพุทธเจ้า-

เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันทั่วไป ที่ชาวพุทธเชื่อว่า ชีวิตเป็นเรื่องของทุกข์เท่านั้น ความเข้าใจผิดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อคนเรามีโอกาสเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จริงๆ แล้ว ในพระพุทธศาสนา ความสุขนั้นได้ชื่อว่าเป็นทั้งหนทางและเป้าหมายสูงสุดแห่งการเดินทางของชีวิต  ประการแรกหมายถึงการที่บุคคลควรบริหารจัดการชีวิตของตน ให้ดำเนินไปอย่างสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง ประการหลังชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายของพุทธศาสนาคือการบรรลุความสุขสูงสุด   ที่เรียกว่าพระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงสากลอันประเสริฐ คืออริยสัจสี่ หลักคำสอนของพระองค์แสดงให้เห็นในแนวคิด ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิตอย่างถ่องแท้ คือ ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และหนทางที่นำไปสู่ความดับทุกข์

ความจริงสากลสี่ข้อนี้ เปรียบเสมือนการรักษาโรคในการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งตามรูปแบบทางการแพทย์ จะมีการระบุโรค วินิจฉัยสาเหตุของโรค ประเมินว่ารักษาได้หรือไม่ แล้วจึงกำหนดขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเปรียบเสมือนหมอ ที่ทำการวินิจฉัยและรักษาโรคนั่นเอง

คำว่า ทุกข์ เป็นภาษาบาลี ซึ่งมักแปลว่าความทุกข์ ความไม่พอใจหรือการถูกบีบคั้น หมายรวมได้ว่า “สิ่งที่ทนได้ยาก” ทุกข์ ยังหมายถึงความรู้สึกเจ็บปวดทางร่างกายหรือจิตใจ ความไม่สามารถที่จะพึงพอใจ และความไม่สามารถทนหรือต้านทานแรงกดดันได้ เนื่องจากไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไปทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้คนสร้างความทุกข์นี้ขึ้นมาเอง โดยพยายามยึดติดกับความสุขทางโลกเอาไว้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปิดเผยว่า การรับรู้ของเราถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงโดยกิเลสในใจ เราตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น คือ ตัณหา อุปาทาน และอวิชชา ซึ่งนำไปสู่ความทุกข์ทุกรูปแบบในชีวิต การจะบรรลุความสุขอันสูงสุดได้นั้น จะต้องกำจัดกิเลสในใจให้หมดสิ้นไปโดยปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด อันได้แก่ ความเห็นที่ถูกต้อง(สัมมาทิฏฐิ) ความคิดที่ถูกต้อง(สัมมาสังกัปปะ) คำพูดที่ถูกต้อง(สัมมาวาจา) การกระทำทางกายที่ถูกต้อง (สัมมากัมมันตะ) การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง(สัมมาอาชีวะ) ความเพียรที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ) การมีสติที่ถูกต้อง(สัมมาสติ) และการมีสมาธิที่ถูกต้อง (สัมมาสมาธิ)

ทำไมต้องอุปสมบท:

ในพระพุทธศาสนาแบ่งผู้คนเป็นสองกลุ่ม คือ ฆราวาส และนักบวช (พระภิกษุและภิกษุณี) ทั้งสองกลุ่มแสวงหาความสงบและความสุขที่แท้จริงตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฆราวาสใช้ชีวิตในโลกแห่งความสุขทางกาม ความสุขของพวกเขามาจากทุกสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความสุขของฆราวาสขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก เช่น เงินทอง ชื่อเสียง หรือความสัมพันธ์ เป็นต้น ความสุขประเภทนี้ไม่เที่ยงและไม่ยั่งยืน อีกทั้งในระยะยาวจะนำมาซึ่งความทุกข์ในชีวิต เมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านั้น จะทำให้เป็นทุกข์ ตกอยู่ในสภาพวิตกกังวล โศกเศร้า เจ็บปวด หรือสิ้นหวังในชีวิต

พระภิกษุเป็นผู้มองเห็นข้อบกพร่องและความผิดปกติบางอย่างในโลกของกามสุข ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจละทิ้งความสุขในรูปแบบนี้ และเดินตามทางด่วนแห่งความหลุดพ้น เพื่อบรรลุถึงความสุขอันสูงสุด คือ นิพพาน ความสุขของท่านมาจากภายในไม่ขึ้นอยู่กับทรัพย์สมบัติ ความสุขประเภทนี้มีความประณีตและประเสริฐกว่าความสุขทางกาม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นต้น การกระทำเหล่านี้ย่อมช่วยให้พ้นทุกข์ทุกรูปแบบในที่สุด เป็นความสุขที่ไร้ขีดจำกัด ยั่งยืน และมั่นคง เหมาะสำหรับผู้ที่มุ่งตรงสู่การค้นหาอิสรภาพที่แท้จริง คือ นิพพาน

เราเคยชินกับความทุกข์จน ไม่รู้ว่ามันมีอยู่
เช่นเดียวกับปลาที่อยู่ในน้ำ ไม่สังเกตเห็นน้ำ

Message us